fbpx

ความฝันของสื่อปลอดภัย ในวันที่คนเสพแต่สื่อไม่สร้างสรรค์ : ดร.ธนกร ศรีสุขใส

บทนำ

บนถนนพหลโยธินใกล้ๆ บีทีเอสอารีย์ หลายคนคงจะเข้าใจว่ามันคือแหล่งขึ้นชื่อของบรรดาคาเฟ่หลากหลายสไตล์ แต่นอกเหนือจากนั้นยังมีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งตั้งอยู่ละแวกนี้อีกด้วย และหนึ่งในนั้นอยู่บนตึกที่มีตัวอักษรบนตึกว่า IBM ซึ่งไม่ใช่ชื่อตึก

เราเดินทางมาพร้อมกับทีมงานอีก 2 คน มาที่ชั้น 6 ซึ่งที่นี่ไม่ใช่แค่พื้นที่ทำงานปกติธรรมดาที่มักจะมีคนเข้าออกกันบ่อยๆ แต่ภายในยังเต็มไปด้วยผลงานที่สถานที่แห่งนี้ได้เคยทำไว้ ทั้งเจน-นุ่น-โบว์ และสารคดีโควิด-19 ที่เปิดวนไปเรื่อยๆ

จนเรามาเจอผู้ที่เราจะพูดคุยวันนี้
ใช่ครับ ตามพาดหัวเลย เขาคือ “ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า เขาเคยเป็น 1 ในอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่และเยียวยาคลื่นความถี่ 700 MHz ของสำนักงาน กสทช.
เขายังเคยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (TITV)
เขายังเคยเป็นผู้บริหารและผู้ดำเนินรายการกลุ่มบริษัท สำนักข่าว INN
เขายังเคยผ่านการสรรหาได้รับเป็น 1 ใน 4 ว่าที่ กสทช. อีกด้วย

และเขาคือ “ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ซึ่งปกติคนมักจะคุยกับเขาแค่เรื่อง ขอทุน ขอทุน และขอทุน (แน่นอนคงปฏิเสธไม่ได้) แต่วันนี้เราจะพามาคุยอีกมุมมองที่น่าสนใจของเขา
แน่นอนว่าคุณอาจจะต้องลองเปิดใจอ่านคอลัมน์นี้สักครั้ง เผื่อคุณจะเข้าใจมากขึ้น


1
ความฝันเริ่มต้นจาก “ซีรีส์เกาหลี”

หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า ดร.ธนกร ที่ภายนอกเป็นคนทำงานตลอดเวลานั้น แท้ที่จริงแล้วเขาเป็นแฟนตัวยงซีรีส์เกาหลีเชิงประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เขาเริ่มพูดคุยด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มว่า “ดูตั้งแต่ออกช่อง 3 ตั้งแต่ Netflix ยังไม่มา ผมติด “จูมง” งอมแงมมาก ประมาณ 33 แผ่น 83-85 ตอน ยาวมาก จูมงพูดถึงเรื่องของการสร้างโกคูรยอที่อยู่โชซอนยุคแรกที่ล่มสลายไป แล้วเกิดราชวงศ์พูยอ (จูมงอยู่ในพูยอ) แล้วจำลองเรื่องการต่อสู้ในราชสำนักที่ต้องเรียกว่าอินมาก ในที่สุดจูมงก็แยกตัวออกมา และสร้างโกคูรยอได้สำเร็จ แล้วก็มาเป็นโชซอนยุคหลังที่ปัจจุบันก็เป็นเมืองในเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ อันนั้นคือตั้งแต่แรกเลย”

“พอมา “แดจังกึม” ซึ่งคนไทยทุกคนรู้จัก ทุกวันนี้ยังดูอยู่ นี่ผมยังดูเรื่อง “จอมกษัตริย์ตำนานอักษร” เรื่องของผู้คิดค้นประดิษฐ์อักษรของเกาหลี 26 ตัว ที่มาทดแทนอักษรภาษาจีน ซึ่งมีเป็นหมื่นคำ อักษรจีนก็เป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมขงจื๊อ เกาหลียุคสร้างชาติก็พยายามที่จะปลดแอกประเทศหรือวัฒนธรรมออกจากวัฒนธรรมขงจื๊อแล้วมาสร้างวัฒนธรรมเกาหลีเอง ทีนี้การที่จะไม่เอาวัฒนธรรมขงจื๊อซึ่งครองเกาหลีอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่กษัตริย์เองยังผลักดันไม่สำเร็จ เลยต้องจับมือกับคนธรรมดา หรือนักเคลื่อนไหวต่อสู้ เพื่อที่จะสร้างเกาหลีให้มีอักษรของตัวเอง”

สิ่งที่ทำให้เขาสนใจที่จะดูซีรีส์เกาหลีเชิงประวัติศาสตร์ เขาเล่าว่า “คือทุกเรื่อง เกาหลีมีการทำการบ้าน แล้วบทสนทนา แค่ขายบทขายฉากก็ต้องติดตามแล้ว เพราะบทสนทนา Dialog เนี่ย มันใช้สติปัญญา ใช้ปรัชญา ใช้ความลึกซึ้ง ในการที่จะมาเขียน ถกกันมองที่มุมต่าง มองกันแบบนี้ มองอีกมุมหนึ่งก็มีแบบนี้ คนอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันมองปัญหาไม่เหมือนกัน มันสะท้อนออกมาและสนุกมาก เรื่องใหม่ๆ หลายเรื่องที่ดู”


2
ความฝันเล็กๆ ที่อยากให้ยิ่งใหญ่

แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพยายามฝันมาโดยตลอดตั้งแต่ได้รับบทบาทในการเป็นผู้นำในกองทุนสื่อฯ นั่นก็คือการทำให้สื่อมีพื้นที่ที่ปลอดภัย ทั้งในเชิงเนื้อหาและความสร้างสรรค์มากขึ้น เขาเล่าถึงความฝันว่า “ก็อยากเห็นรายการดีๆ เพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อดั้งเดิม ทั้งสื่อใหม่ และอยากเห็นผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งประเภทที่ 1 และ 2 กลายเป็นผู้ที่จะช่วยสร้างสรรค์ผลงานด้านสินค้าวัฒนธรรมที่จะส่งออกไปต่างประเทศ”

เขาเล่าถึงเหตุผลในครั้งนี้ว่า “ผมเป็นแฟนคลับของซีรีส์เกาหลีคนหนึ่งที่คิดว่าเกาหลีประสบความสำเร็จมากในการผลิตสินค้าวัฒนธรรมส่งออกไปขาย เรื่องราวในเกาหลี เขาก็บิ้วต์ เรื่องราวในมิติต่างๆ เขาก็ไปขุดมา ถ้าเรามามองวัตถุดิบในประเทศไทย ทุกเรื่องเราเยอะมาก ทั้งประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อาหาร วิถีชีวิต ชาวบ้าน มรดกโลก หรืออะไรก็แท้แต่ มันเป็นวัตถุดิบที่ดีมากในการที่จะสื่อสารออกไปยังต่างประเทศ ผมเชื่อว่าถ้ามีบุคลากรหรือคนในวงการนี้ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งเราก็จะสามารถเป็นเจ้าของสินค้าวัฒนธรรมที่สามารถส่งออกไปทั่วโลกได้ อันนั้นเป็นความฝัน”


3
หนังใหญ่ปีละเรื่อง ไม่มากไป ไม่น้อยไป

ด้วยความที่เขาทำงานด้านสื่อมาค่อนข้างมาก สิ่งที่เขาฝันสิ่งหนึ่งเลยก็คือ “ปีหนึ่งอยากจะเห็นสื่อชิ้นใหญ่ๆ อย่างน้อย ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่หนังรัฐบาล ไม่ใช่หนังราชการ ไม่ใช่หนังกองทุน แต่เป็นหนังของคนไทยทุกคน แล้วได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ดู parasite ของเกาหลี เป็นหนังเรื่องแรกที่พูดภาษาท้องถิ่นนะ แล้วได้รางวัลออสการ์ มันสุดยอด แล้วทำไมเมืองไทยไม่คิดแบบนี้บ้าง คนไทยต้องฝันนะ”

เขายังกล่าวเสริมว่า “แล้วก็ควรจะมีละครซีรีส์ ที่เกาหลีจะเห็นว่ามีซีรีส์ในยุคโบราณ ซีรีส์ในยุคใหม่ โบราณก็ทำย้อนยุคไปเลย วิจัยด้วย แดจังกึมนางเอกต้องใส่ปิ่นปักผมแบบไหน ไปเอาตั้งแต่สมัยโชซอนเลย ก็อยากจะเห็นว่าละครซีรีส์ของเราอย่างบุพเพสันนิวาสมันควรจะมีทุกปี มันไม่ควรรอนานๆ ทีว่าจะมีละครดีๆ แบบนี้ซักทีหนึ่ง ถ้าเราคิดว่าบุพเพสันนิวาสมาเป็นนวัตกรรม เราสร้างได้ ทำไมเราไม่สร้าง เราสร้างนักเขียนบทสิ เราสร้างผู้กำกับสิ เราสร้างคนเขียนนวนิยายสิ เราสร้างเด็กรุ่นใหม่สิ ถ้าเราตั้งเป้าว่าจะสร้างปีละ 10 เรื่องนะ ไม่แน่นะ ที่เราว่าดีๆ เป็น best seller มันอาจจะเป็น 1 เรื่อง แล้วถ้ากล้าคิดใหญ่แบบนี้”


4
ถูกวิจารณ์แต่ไม่ท้อ ต้องนำมาปรับปรุงเพิ่ม

สิ่งที่ถูกพูดถึงในปีนี้ที่กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต คือการทำหนังรักชาติ ที่บางสำนักข่าวก็ตีราคาเป็น 300 ล้านบาท ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมีงบก้อนนี้มีมูลค่าเพียง 30 ล้านบาท ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ เขาได้พูดถึงกรณีนี้ต่อว่า “ดีใจว่ามีคนสนใจแล้วก็ที่อาจจะมีการเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อนบ้าง ก็ไม่ได้เสียใจนะเพราะคิดว่าถึงเวลาก็จะอธิบายให้เข้าใจกันได้ ความคลาดเคลื่อนก็อย่างเช่นว่า กองทุนสื่อฯจัดเงิน 300 ล้านสร้างหนังแห่งชาติ คนก็คิดว่า 300 ล้านช่วงประเทศมีปัญหาวิกฤตต่างๆ มากมาย วัคซีนก็ยังไม่มีโควิด-19 ก็ล้อมหน้าล้อมหลัง เอาเงิน 300 ล้านไปซื้อวัคซีนดีกว่าไหม? อันนี้อาจเป็นความคลาดเคลื่อนที่โดยเจตนาหรือไม่เจตนาไม่เป็นไรไม่ว่ากัน”

เมื่อพูดถึงคำว่ารักชาติ เขากล่าวต่อด้วยท่าทางที่เคร่งเครียดว่า “คือเมื่อพูดว่ารักชาติ หลายคนคิดไปในมุมของการเมือง เพราะว่าสภาพการณ์ก่อนหน้านี้มันมีคำที่เป็นคู่ตรงข้ามอยู่ก็คือคำว่าชังชาติ เพราะถ้าคิดว่าชังชาติเป็นคำการเมือง คำว่ารักชาติก็เป็นคำการเมือง เพราะในแง่นี้โอกาสที่คนไม่สบายใจทันทีเลย ต้องเรียนทุกท่านให้สบายใจโดยเฉพาะผู้จัดการเอง คิดว่าการใช้คำว่ารักชาติเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้คนมาสนใจหันมาให้ความสำคัญ แต่เราที่อยู่ในฐานะกองทุนสื่อฯ เราต้องการสร้างสื่อเพื่อสร้างความรักความสามัคคีในสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ดีๆ มาทำหนังแบบแนวสงครามเย็นทำให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายคิดว่าไม่มีใครคิดทำหรอก กองทุนสื่อฯถ้าคิดแบบนี้ก็ผิดแล้ว ทำหนังให้คนมาตีกันนั้นไม่ใช่คนรักชาติแล้ว เรื่องราวของคนที่จะมาร่วมความรู้สึกกันในความรักชาติมันมีเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของผู้นำก็ได้ มันอาจจะไม่ใช่รักชาติมิติของความมั่นคง แต่มันจะเป็นเรื่องราวเล็กๆ แต่ว่ามีความฝันที่ยิ่งใหญ่ของสามัญชนคนธรรมดาก็ได้ มันอยู่ที่การสร้างสรรค์ของผู้รับทุนต่างหาก กรรมการเพียงแค่กำหนดหัวข้อแต่ธีมไม่ได้กำหนด วันนี้สังคมต้องการอะไรที่ทุกคนแชร์ได้ ไม่ว่ารักชาติในรูปแบบอะไรเสื้อสีไหน คุณทำได้หรือเปล่า นี่ต่างหากที่เป็นความท้าทาย นี่ต่างหากที่กองทุนอยากให้เกิด ไม่ใช่ต้องรักชาติแบบหัวชนฝา รักชาติแบบนี้คือการทำลายชาติ เพราะเป็นการผลักคนจำนวนหนึ่งที่นิยามความรักชาติไม่เหมือนเราออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย”


5
เคล็ดลับที่ดีที่สุดในการขอทุน คือการมีต้นทุนที่ดี

เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากหนังรักชาติและโครงการอื่นๆ ที่ปีนี้ทางกองทุนสื่อฯ ได้เปิดให้ส่งกันเข้ามาแล้ว ยังมีคำถามมามากมายถึงเคล็ดลับการเขียนขอทุนว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเขาตอบด้วยสีหน้าจริงจังอีกครั้งว่า “เขียนในสิ่งที่เชื่อ ในสิ่งที่อิน ในสิ่งที่ลึก และสนุกกับมัน ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรก็อย่าเพิ่งขอ การขอทุน การเขียนเรื่องมันไม่ใช่วิธีการเขียนอย่างเดียว เป็นเรื่องของเทคนิค กลไก ทักษะ แต่เนื้อหาที่จะทำให้คนเชื่อหรือไม่เชื่อ เราต้องทำให้ตัวเองเชื่อก่อนว่าเรื่องที่เราจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เราสนุกกับมัน เราอินกับมัน เขียนในสิ่งที่เรารู้สึก ในสิ่งที่เราอิน ผมเชื่อว่ากรรมการจะอินตาม อันนี้ตอบแบบกว้างๆ เลย”

นอกจากนั้น เขายังเสริมเทคนิคในการเขียนเพิ่มเติมว่า “ส่วนเทคนิควิธีการเขียน ความสมเหตุสมผล จะเขียนตัวชี้วัดยังไง ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเป็นยังไง ตัวชี้วัดเชิงปริมาณเท่าไหร่ ยอดวิวเท่าไหร่ ยอดไลก์เท่าไหร่ อันนี้ปรึกษากองทุนได้ แต่เรื่องเนื้อหา เขียนในสิ่งที่คุณอิน คุณลึกซึ้งกับมัน คุณปรึกษาใครไม่ได้ เหมือนเวลาเราเขียนบทกวีเรื่องความรัก ให้คนที่ไม่มีแฟน วันหนึ่งๆ ไม่คิดเรื่องแฟนเลย คิดแต่เรื่องงาน เขียนออกไหม ไม่ออก แต่ถ้านึกถึงตอนที่เราเป็นหนุ่มแล้วพบรักครั้งแรก แล้วทุกลมหายใจหน้าเธอมันลอยเข้าออก จับปากกาปุ๊บมันไหลออกมาเลย ไปดูสิ งานวรรณกรรมทั้งหลาย บางทีนักเขียนหลายคนก็เขียนมาจากสภาพบีบคั้น กดดัน หนังสือหลายเล่มที่เขียนมาจากคุก เป็นต้น สภาพแวดล้อมมันสำคัญ คนขอทุนก็เหมือนกัน ถ้าจะเขียนเรื่องที่มันอิน เรื่องที่สนุก ก็ต้องมาจากต้นทุนที่เขามีอยู่ เรื่องเทคนิคกลไกเป็นเรื่องที่มาประกอบในภายหลัง”

“สำหรับประเด็นที่เราจัดสรรไว้นั้น ก็เพราะเพื่อคนที่จะขอก็จะวิเคราะห์ได้ชัดเลย จะเข้าช่องไหน มีเงินอยู่เท่าไหร่ เพราะอันนี้คือความโปร่งใสของกองทุน เราก็คิดว่าในปีต่อๆ ไป ในแต่ละประเด็น เราก็จะกำหนดรายละเอียดไว้แบบนี้ด้วย ไม่งั้นก็จะไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ขอ บางทีเขาก็ตั้งความหวัง ลงทุนในการเขียน proposal เหนื่อยหนักนะ บางทีแค่กรอกข้อมูลก็ยากแล้ว เป็นต้น ซึ่งงบของกองทุนเราก็ได้ยากแล้วก็เงินน้อย ในอนาคตคิดว่ากฎหมายเปิดช่องระดมทุน ก็คิดว่าช่วงนี้เราสร้างความน่าเชื่อถือให้กองทุนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ว่าเรามีการทำงานที่ชัดเจน โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล อีก 2 ปี ในช่วงของผม คิดว่าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการระดมทุน อาจจะได้ กสทช. มาส่วนหนึ่ง แล้วก็ระดมทุนอีกพันล้าน แต่จะกำหนดไว้เลยว่าเอาทุนมาทำอะไร มันจะสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการด้วย ตั้งแต่เป็นเจ้าของเงินร่วมกันแล้ว ซึ่งกฎหมายกองทุนดีมาก ก็คือเปิดช่องไว้ให้แล้ว”


6
กองทุนได้เงินน้อย แต่ผลงานส่งผลมาก

มีหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตถึงเงินทุนที่ได้มา น้อยไปหรือไม่ถ้าเทียบกับกองทุนอื่นๆ แล้วผลที่ได้รับควรจะเป็นอย่างไร? ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ตัดสินใจตอบแบบทันทีว่า “ผลงานเรามีอยู่ ถ้าจำแนกประเภทมีอยู่ 2-3 กลุ่ม กลุ่มแรกที่เป็นชิ้นงาน Production คือจะเป็นหนังสั้นหรือสารคดีหรือว่าเป็นละครที่เป็นซีรีส์นะครับ อย่างสารคดีที่เราโกอินเตอร์ก็คือ บลูด้าน้อย เรามีหนังสั้นที่เพิ่งปิดโครงการ และกำลังจะเปิดตัวก็คือเป็นละคร 13 ตอน เรื่อง เสียงของหัวใจที่อยากให้ได้ยิน ซึ่งก็เป็นงานโปรดักชั่นเหมือนกัน ตอนนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปที่ว่าไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มไหน”

“สังคมกลุ่มที่สองที่เกี่ยวกับการรณรงค์รู้เท่าทันสื่อเป็นพวกรายการ เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ ซึ่งไม่ใช่ของ อสมท. แค่ อสมท. เป็นผู้รับทุนจากเราไป คนก็รู้จักชัวร์ก่อนแชร์แต่อาจไม่รู้จักกองทุน อันนี้ก็เป็นงานของเรา งานที่พัฒนาแอปพลิเคชันเนี่ยก็มีไม่น้อยเหมือนกัน เรื่องของการตรวจสอบข่าวลวง เรามีงานอยู่หลายโครงการเลยตอนนี้กำลังรวบรวมอยู่ แม้แต่ COFACT เนี่ยเราก็เป็นภาคีหนึ่งที่ไปร่วมสนับสนุน”

“ผลงานที่เด่นๆ อื่นๆ เช่น เรื่องสื่อประชาสัมพันธ์ให้เท่าทันโควิด-19 กักตัวทั้งอำเภอเพื่อเธอโควิดเนี่ย เราก็เป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญสื่อโควิดหลายชิ้น เรายังมีหลักสูตรสื่อออนไลน์เป็นห้องเรียนโควิด-19 ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ที่ฮิตมาก มีคนเรียนออนไลน์และได้รับใบประกาศนียบัตรไปแล้วตอนนี้ประมาณ 130,000 คน ซึ่งเราเพิ่งเปิดหลักสูตรนี้ไม่กี่เดือนเองเมื่อปลายปีที่แล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นเนี่ยผลงานของกองทุนอยู่ในกระบวนการของการจัดการจัดระบบอยู่ ซึ่งเราค่อยๆ ปล่อยออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างงานผู้รับทุนปี 63 เริ่มที่จะส่งงานงวดที่ 2 แล้ว อีก 2-3 เดือนจะได้เห็นผลงานชิ้นงานที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เพราะฉะนั้นในจำนวนเงินที่ค่อนข้างจำกัดและจำนวนน้อยที่เรามีอยู่เราก็พอใจกับผลงานที่เราทำอยู่พอสมควร เพียงแต่ว่าด้วยความที่เป็นองค์กรใหม่ หลายอย่างก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง การจัดระบบข้อมูลการจัดการสิ่งที่เรามีทรัพย์สินทางปัญญา ก็อาจจะยังไม่เป็นระบบนักตอนนี้สำนักงานก็เร่งดำเนินการอยู่โดยเร่งด่วน”


7
หน้าที่ของกองทุนสื่อฯ คือส่งเสริมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

เขายังพูดถึงเจตนารมณ์ที่สำคัญด้วยว่า “หน้าที่ของกองทุนสื่อฯ จริงๆ เม็ดเงินของกองทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับโฆษณาของตลาดทั้งระบบ ประเทศไทยเรามีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อ ทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่ สื่อดั้งเดิม สื่อออนไลน์ ปีหนึ่งเฉลี่ยอยู่ 1 แสนล้าน ที่ขับเคลื่อนธุรกิจของสื่ออยู่ กองทุนสื่อฯเองมีเงินอยู่ 300 ล้านบาท เราก็เป็นเหมือนไม้ซีกงัดไม้ซุง แต่ว่าเราสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะเรื่องสื่อ ไม่ใช่เรื่องปริมาณ มันเป็นเรื่องคุณภาพ เพราะฉะนั้น 300 ล้านกับ 100,000 ล้าน ไม่แน่ถ้าเรามีผู้ผลิตที่เป็นคนมีศักยภาพจริงๆ เป็นช้างเผือกขึ้นมา แล้วสร้างสื่อสร้างสรรค์ชิ้นหนึ่ง แล้วมันเปรี้ยงปร้างขึ้นมาสร้างผลกระทบในสังคมได้ ทุกวันนี้เราก็มีผลงานที่ดีอยู่หลายชิ้น แต่อย่างที่บอกว่า จะให้แก้ปัญหาทั้งหมดทีเดียวไม่มีทาง สิ่งที่ทำได้วันนี้ก็คือไปสร้างสมดุลระหว่างสื่อที่ดีกับสื่อที่ไม่ดี บทบาทของกองทุนก็คือไปลดทอนสื่อที่ไม่ดี วิธีการลดทอนทางอ้อม ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมาย การไปแจ้งความโฆษณาเกินจริง อันนั้นเป็นหน้าที่ของ กสทช.”

“หน้าที่เราก็คือไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อ วิเคราะห์ให้ได้ แยกแยะให้ได้ วินิจฉัยได้ โฆษณาตัวนี้อย่าไปหลงเชื่อนะ โฆษณาเกินจริง มันก็จะไปลดทอนพลังของสื่อที่ไม่ดีทั้งหลาย จะไปเรียกว่าขจัดสื่อร้ายก็คงไม่เชิง แต่ว่าไปลดทอนทำได้แน่ ในขณะเดียวกันก็ไปหนุนเสริมพลังสื่อทางบวกให้มีพลังส่งเสริมสังคมมากขึ้น รายการเด็กดีๆ มีน้อย ก็ไปเพิ่มให้มีมากขึ้น ผู้ผลิตหน้าใหม่น้อยมาก เราก็ไปสร้างให้เกิดผู้ผลิต หลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ที่ยังไม่เคยมีหรือมีน้อย เช่น หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ ภาคประชาชนก็ดี หรือในสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ วันนี้เราก็ดำเนินการอยู่ว่าจะไปแสวงหาความร่วมมือเพื่อจะไปผลักดันให้เกิดหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทุกวันนี้กองทุนสื่อก็ไปจับมือกับหลายหน่วยงานทั้งผ่านผู้รับทุนเอง หรือผู้ที่มาทำงานร่วมกับสำนักงานในการที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมด้านการผลิตสื่อที่มันไปกระตุ้นให้สังคมได้เห็นว่าสื่อดีเป็นยังไง สื่อไม่ดีเป็นอย่างไร”


8
เน้นงาน Production เพื่อสร้างผลตอบรับในระยะยาว ผสมกับค้นหานักสร้างสื่อมือใหม่

เมื่อเรายิงคำถามไปว่าปีนี้กองทุนสื่อฯ อยากให้เห็นผลงานออกมาเป็นแบบไหน ผู้จัดการก็ตอบทันทีว่า “ปีนี้จะเห็นว่าเรื่องของรูปแบบการนำเสนอจะเน้นเรื่องการผลิต Production ทุกประเภทจะเน้น Production อันที่สองคือจะเน้นประเด็นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ เพราะว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมมีความขัดแย้ง แม้แต่ในครอบครัว เราก็มีประเด็นเรื่องของหนังรักชาติ เรื่องของการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เรื่องความสามัคคี เรื่องยกย่องคนที่ทำความดี ซึ่งมันเป็นธีมเดียวกัน ก็มันมีมิติทางสังคมอยู่ ซึ่งผมจะขอวิงวอนว่าในประเด็นเหล่านี้อย่าได้คิดเป็นเรื่องการเมือง เพราะถ้าเป็นเรื่องการเมือง ผลิตออกไปก็ไม่มีประโยชน์ ผลิตออกไปให้คนด่าเปล่าๆ หนังมันจะไปทำให้คนตีกันเนี่ย ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ ธีมก็จะมุ่งเน้นไปทางปัญหาสังคม ข่าวลวงเราก็ทำไปพอสมควร cyberbullying ผลงานก็กำลังจะออก แล้วก็มีประเด็นเรื่องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากด้วย ซึ่งคิดว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เป็นเรื่องจำเป็น”


9
4 ยุทธศาสตร์กับการทำงานเพื่อสื่อที่สร้างสรรค์

มาถึงตอนนี้หลายคนที่อ่านอาจจะอยากทราบเพิ่มเติมถึงยุทธศาสตร์ของกองทุนสื่อฯ ซึ่งผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ก็ได้ตอบว่า “ตอนนี้ก็คือเดินตามหลักยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ซึ่งต้องทำ การพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็ทำกันอยู่ต่อเนื่องทุกปีผ่านการจัดสรรทุนและการทำงานของสำนักงานเอง อันนี้อันที่หนึ่ง”

“อันที่สอง ภารกิจด้านการเฝ้าระวังและการรู้เท่าทันสื่อ อันนี้เป็นงานที่ทำกับภาคีเครือข่ายหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนร่วมกัน เช่น เรื่องรู้เท่าทันสื่อก็ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ปีที่แล้วเราก็มีความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย ปีนี้ก็เตรียมการที่จะไปหารือกับทางกระทรวง อว. เพื่อที่จะทำให้เกิดหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ นำไปสอนในระดับต่างๆ ส่วนเรื่องการเฝ้าระวังก็ไปให้ความรู้กับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เรียกว่า Network ในการที่จะตรวจสอบสื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ทั้งหลาย งานพวกนี้ก็เป็นงานที่พวกเราทำต่อเนื่อง”

“งานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมก็ยังเป็นงานที่ยังทำต่อเนื่องอยู่ ปีนี้เราก็จะจัดทำฐานข้อมูลของสภาพการสื่อ พฤติกรรมการเปิดรับให้มีความชัดเจนมากขึ้น ต่อไปเราก็อาจจะมีคล้ายๆ เรตติ้ง ของสื่อที่ไม่ใช่เรตติ้งจากบริษัทที่มาจากรายการแต่ละรายการ ช่องแต่ละช่อง แต่ว่ามีเรตเชิงคุณภาพ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอยู่ในงานของสำนักงาน”

“สิ่งที่เราต้องทำต่อเนื่องคือการส่งเสริมการส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายเขียนให้เราต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ถามว่าต้องส่งเสริมให้มีส่วนร่วมเรื่องอะไรบ้าง เรื่องแรกเราอยากเห็นคนไทยทุกคนเป็นผู้เปิดรับสื่อที่มีสติ มีคุณภาพ ตั้งรับได้ แยกแยะได้ รู้ว่าอันนี้ควรแชร์ อันนี้ไม่ควรแชร์ อันนี้ข่าวลวง เบื้องต้นเราถือว่าเป็นผู้เปิดรับสื่อที่มีคุณภาพ ถ้าเป็นแบบนี้เรื่องข่าวลวงจะลดลงทันที เรื่องที่สองเราต้องการการมีส่วนร่วมในระดับที่สูงขึ้นไป ช่วยกันเฝ้าระวัง สื่อที่ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ทั้งหลาย แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องแจ้งเรา เพราะโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค โฆษณาเกินจริงแจ้ง อย. ก็ได้ แจ้ง กสทช. ก็ได้ ถ้าเป็นออกทางวิทยุโทรทัศน์ ถ้าเป็นทางออนไลน์ก็แจ้งศูนย์ไซเบอร์ของทางกระทรวงดีอีก็ได้หรือแจ้งมาที่เราก็ได้ เราต้องการการมีส่วนร่วมแบบเฝ้าระวัง เราต้องการการมีส่วนร่วมไปมากกว่านั้น เราต้องการพื้นที่ให้ผู้ผลิตหน้าใหม่ นักสร้างสรรค์หน้าใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์นี้”


10
ถึงเวลาเริ่มลงมือขอทุน แล้วต้องทำอย่างไรดี?

ก่อนเราจะจากลาและปิดการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนสื่อฯ ฝากถึงคนที่จะขอทุนในปี 2564 ว่า “การขอทุนมีข้อมูลรายละเอียดเยอะ เพราะฉะนั้นใครที่จะขอทุน ขอให้มีทีมงานอย่างน้อยสักสองคนหรือสามคน แล้วให้ทีมงานไปช่วยอ่านประกาศให้ละเอียด ประกาศไม่ยาว เอกสารแนบก็ไม่ยาว การอ่านประกาศโดยละเอียดจะทำให้จัดความคิดได้ว่ากองทุนต้องการอะไร แล้วเขาต้องทำอะไร เริ่มจากต้องอ่านประกาศ และก็ไม่ได้อ่านคนเดียว ถ้าอ่านสองคนก็จะแชร์ว่า เรื่องนี้ คุณสมบัติข้อนี้ต้องแนบผลงานอะไร ต้องคุยกันเองก่อน ผมแนะนำ เสร็จแล้วมาค้นหาตัวเองและต้นทุนที่เรามี อย่าไปนึกว่าเสนอเรื่องอะไร ให้ไปค้นหาสำรวจว่าต้นทุนที่เรามี เรา ณ ที่นี้คือผู้ที่จะเสนอทุน ต้นทุนที่คุณมีนั้นคืออะไร ลองเรียงลำดับมาว่าหนึ่งสองสามที่มีต้นทุน แล้วค่อยมาดูว่าที่กองทุนเปิดรับทั่วไปหรือกองทุนยุทธศาสตร์รวมถึงประเภทความร่วมมือตัวไหนที่มาจับคู่ชนกันได้ แล้วถึงไปสู่ขั้นตอนที่สี่ก็คือ ลงมือผลิต proposal ลงมือเขียนผลิตโครงการและค่อยๆ ไล่มันออกมา ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการที่ดีจะขายตัวมันเองได้ เพราะฉะนั้นทำในสิ่งที่ดี เขียนโครงการในสิ่งที่ดี เขียนโครงการที่เชื่อ เพราะเชื่อว่ากรรมการก็ต้องยอมรับ อย่างที่บอกว่าเราต้องสร้างต้นทุนของความน่าเชื่อถือ ผมประกาศเลยว่าเราต้องมีความน่าเชื่อถือ สิ่งที่เราทำปรารถนาที่สุดของวันนี้อยากให้ผู้รับทุนเข้าใจเรา เราก็จะเข้าใจผู้รับทุน ได้ไม่ได้อีกเรื่องนึง แค่อยากจะคิดฝันทำสิ่งดีๆเพื่อสังคมแค่นี้ถือว่ากองทุนประสบความสำเร็จในระดับนึงแล้ว”


สำหรับผู้สนใจขอรับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถติดตามรายละเอียดและขอทุนได้ผ่านทาง www.thaimediafund.or.th และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-273-0116-9 หรือผ่านทาง Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า