fbpx

คุยกับนุ่น เฟมินิสต์ : เมื่อเฟมทวิตมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องดราม่าบนโลกออนไลน์

สังคมผู้ใช้โซเชียลมีเดียไทยโดยเฉพาะทวิตเตอร์ (Twitter) น่าจะคุ้นเคยคำว่า “เฟมทวิต” ไม่มากก็น้อย เพราะเฟมทวิตเคยเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเป็นเหตุการณ์ถกเถียงดราม่าระหว่างกลุ่ม  “The sanctuary of เบียวชิบหาย” และ “เฟมทวิต” ในประเด็นที่เกี่ยวโยงเกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศ สังคมชายเป็นใหญ่ ตลอดจนสิทธิสตรี 

ทาง The Modernist ก็ได้ชวน นุ่น ธารารัตน์ ปัญญา นักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี หรือเฟมินิสต์ มาร่วมถกเถียงประเด็น “เฟมทวิต” กัน แม้ว่าตัวของนุ่นไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเฟมทวิต แต่ได้สำรวจปรากฏการณ์เฟมทวิตบนโลกออนไลน์ ติดตามดราม่า ตลอดจนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการอธิบาย และคอมเมนต์ในประเด็นต่าง ๆ เวลามีการปะทะกัน

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงอยากได้มุมมองของนุ่นในฐานะที่เป็นผู้สำรวจปรากฏการณ์จากภายนอกมาคุยกันในแง่มุมต่าง ๆ ของเรื่องเฟมทวิต ทั้งตัวปรากฏการณ์ ข้อดี-ข้อเสียของการเคลื่อนไหวสิทธิบนโลกออนไลน์ และความรู้สึกของนุ่นต่อกระแสการต่อต้านแนวคิดของเฟมินิสต์

เฟมทวิต คือปรากฏการณ์อะไร?

ก่อนรู้จักมีเฟมทวิต ก็ต้องรู้จักคำว่า “เฟมินิสต์” เพราะเฟมทวิต มีพื้นฐานมาจากเฟมินิสต์นี่ละ นิยามกลุ่มเฟมินิสต์สั้น ๆ เลยก็คือ เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของสตรี ซึ่งในความเป็นเฟมินิสต์เองก็มีความหลากหลายของแนวคิด เช่น เฟมินิสต์แบบ radical แบบสายกลาง และอื่น ๆ ตามแต่ละประเด็น 

ขณะที่จุดเริ่มต้นของ “เฟมทวิต” มาจากกลุ่มสังคมออนไลน์ในทวิตเตอร์ที่ชื่อ  “The sanctuary of เบียวชิบหาย” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กลุ่มเบียว” ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วยคนหลากหลายเพศ มีการโพสต์ข้อความเชิงมุกตลกเรื่องเพศ การคุกคามทางเพศ ตลอดจนล้อเลียนเสียดสีเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ กลุ่มนี้ล้อเลียนเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ว่าเป็น “เฟมทวิต”

เมื่อมีการล้อเลียนแบบนี้เกิดขึ้น กลุ่มเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์จึงนิยามตัวเองว่า “เฟมทวิต” เพื่อจะ reclaim ความหมายเดิมของเฟมทวิตที่กลุ่มเบียวให้ความหมายเชิงเสียดสีล้อเลียน มาแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันกลุ่มขับเคลื่อนสิทธิสตรีในทวิตเตอร์ ซึ่งกลุ่มเฟมทวิตก็จะมีการจับกลุ่มขับเคลื่อนประเด็นเรื่อง Sexual Harrassment (การคุกคามทางเพศ) ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว 

การเกิดขึ้นของเฟมทวิตส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างที่เด่นชัดเลย คือเรื่อง Me too นุ่นกล่าวว่า ถ้าให้เทียบกับสมัยก่อน เฟมินิสต์เวลาจะรณรงค์ ก็ต้องพิมพ์ป้าย ติดโปสเตอร์ตามสถานที่ต่าง ๆ เดินขบวนบนถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม แต่ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้หญิงสามารถโพสต์เรื่องราวที่ตัวเองประสบพบเจอลงในโซเชียลมีเดียได้ เช่น การโดนคุกคามทางเพศ การโดนทุบตีจากสามี และอื่น ๆ มันก็เริ่มทำให้คนที่มีประสบการณ์ทำนองเดียวกันเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนแชร์ไอเดียซึ่งกันและกัน รวมตัวกันจนพัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนประเด็น

ทีนี้กลุ่มเบียวหรือคนที่ไม่ชอบเฟมทวิตก็จะมีคำครหาต่าง ๆ นานา หนึ่งในนั้นคือเฟมทวิตไม่ใช่เฟมินิสต์ ซึ่งนุ่นก็อธิบายว่า เฟมทวิตก็คือเฟมินิสต์ แต่ขับเคลื่อนผ่านโลกออนไลน์อย่างทวิตเตอร์เท่านั้น จริง ๆ คนอาจติดภาพว่า เฟมินิสต์ต้องเป็นนักวิชาการศึกษาสตรีนิยมถึงจะขับเคลื่อนประเด็นได้ ซึ่งเฟมทวิตไม่จำเป็นต้องศึกษาแนวคิดสตรีนิยมผ่านการศึกษางานวิชาการจริง ๆ จัง เขาอาจจะมีประสบการณ์และก็เผชิญการถูกกดทับไม่ว่าทางตรงหรือเชิงโครงสร้าง ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดและอยากจะระบายออกมาผ่านทวิตเตอร์ด้วยก็ได้ หรือแค่ขอให้คุณสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ก็ถือว่าคุณเป็นเฟมินิสต์แล้ว

นุ่นมีมุมมองกับการเกิดขึ้นของเฟมทวิตอย่างไรบ้าง?

นุ่นอธิบายว่า เธอมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าทำให้คนได้มาถกเถียงกัน และเกิดการตระหนักในเรื่องความไม่เท่าเทียมร่วมกัน ท้ายที่สุดมันก็ส่งผลดีต่อแนวคิดของเฟมินิสต์ที่ได้ขยายไปในสังคม

“คือมันก็มองได้หลาย ๆ แง่มุมนะคะ แง่หนึ่งก็คือมีขบวนการ Movement ที่ขับเคลื่อนสิทธิสตรีมากขึ้น ทุกคนกล้าพูดถึงเรื่องประสบการณ์ทางเพศ ใครก็สามารถพูดเรื่องเพศหรือความไม่เท่าเทียมได้ พอคนมาเจอ มาคุยกัน ก็เกิดการสนับสนุนช่วยเหลือ

เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่ดี คือเหมือนเมื่อก่อนยากมากเลย การที่จะบอกว่าโดน Sexual Harassment คือตอนนี้ทุกคนสามารถพูดได้โดยใช้ช่องทางนี้ แล้วก็เป็นช่องทางที่แลกเปลี่ยนข่าวสาร เรื่องการศึกษา เรื่องงานเฟมินิสต์ซึ่งกันและกัน เราว่ามันดีในแง่ มีคน support มีคนที่เห็นด้วย มีการถกเถียงด้วยกันได้

ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีเฟมทวิตตีกับเบียว คือคนอาจจะไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเฟมินิสต์คืออะไร มันเป็นเรื่องธรรมดา พอมันมีการรวมกลุ่ม มันก็ทำให้สนใจเรื่องนี้มากขึ้น กระแสบอกว่าเฟมทวิตคืออะไรนะ คนก็เลยลามมาเฟมินิสต์คืออะไร คนหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยด้วยซ้ำ ก็เป็นการขยายไอเดียทางความคิดที่น่าสนใจ” นุ่น กล่าว 

นุ่นให้ความเห็นว่าการมีเฟมทวิตมันเขยิบเพดานของการเรียกร้องสิทธิสตรีอีกด้วย

“เป็นการเขยิบเพดานเรื่องการต่อสู้ของสิทธิสตรีขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง คือแบบว่าคนก็สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีนโยบายไหนบ้างที่แบบว่าสมควรที่จะได้รับหรือว่าต้องเรียกร้องต่อไปเพื่อให้เกิดขึ้น เมื่อก่อนผ้าอนามัยคนก็ไม่ค่อยพูดถึง พอมันมี Public Figure มีพี่ช่อ (พรรณิการ์ วานิช จากพรรคก้าวไกล) พูดถึงเรื่องผ้าอนามัย เฟมทวิตที่พูดถึงผ้าอนามัย เป็นสินค้าที่ว่าหาซื้อได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องแพงขนาดนั้น เราก็ว่ามันโอเค”

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นเฟมินิสต์ และได้ตามการดีเบต นุ่นมองว่า การปะทะกันทำให้นุ่นได้คิดถึงการขับเคลื่อนในหลากหลายประเด็น เช่น สิ่งที่เบียวและเฟมทวิตทำมันถูกไหม กระแส Men are Trash สมควรพูดไหม ขยายแนวร่วมอย่างไรบ้าง การเคลื่อนไหวด้วยอารมณ์ของเฟมทวิตมันดีเหรอ การถกเถียงกันมันทำให้คนสนใจมี awareness ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งนุ่นมองว่าเรื่องพวกนี้น่าสนใจและติดตาม

ปัญหาของเฟมทวิต-การต่อยอดเพื่อเปลี่ยนแปลง?

ถ้าเราได้ดูจากข้อดีข้างต้นว่าเฟมทวิต และอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย กำลังทำให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้ (awareness) ในสิทธิหรือความไม่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไปก็จะเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือโครงสร้างในอนาคต ถ้างั้นข้อเสียของการขับเคลื่อนประเด็นบนโลกออนไลน์มันมีไหม อย่างไร

นุ่นอธิบายว่า ปัญหาหลักของการขับเคลื่อนประเด็นที่จำกัดอยู่เฉพาะในโลกออนไลน์ หนึ่งคือการเน้นวิธีการสื่อสาร อารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริง

“มันก็มีข้อเสียในแง่ที่แบบว่า พอมันมีอินเทอร์เน็ต ประเด็นมันไวรัลเร็ว ทำให้เน้นการสื่อสารมากกว่าไอเดีย ยกตัวอย่าง เฟมทวิตก็จะมีการเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองเคยโดนมา คือทุกคน Me too ทุกคนพูดถึงเรื่องว่าตัวเองโดนข่มขืน ตัวเองพูดเรื่องการคุกคามทางเพศโดยไม่ได้มาจากการยินยอมพร้อมใจของตัวเอง แต่ว่าคนที่จะไปนั่งอธิบายว่าจริง ๆ consent (ความยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย) ที่แท้จริงมันคืออะไร วัดจากอะไรบ้าง คือมันมีน้อย พอไปเน้นวิธีการสื่อสารมากกว่าไอเดีย มันก็เลยมีปัญหาตามมาในบางอย่าง

แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดการตัดสินโดยที่ไม่ได้พิสูจน์ความจริง ฉันออกมาพูดว่าฉันโดนคุกคามทางเพศ คืออีกคนที่ถูกกล่าวหาก็ถูกประณามโดยสังคมไปแล้ว โดยทั้งที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความจริงเลยแม้แต่น้อย คือพอบอกว่าไปเน้นวิธีการสื่อสารแบบนี้ มันก็เลยมีจุดอ่อนอยู่บางอย่าง ฝ่ายหนึ่งก็โดนสังคมประณามตัดสินไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความจริง กระบวนการยังไม่ได้มีอะไรพิสูจน์ความจริงเลย การที่คุณจะตัดสินว่าผิด มันต้องผ่านกระบวนการกลาง ถึงจะบอกว่า คุณทำผิดจริงอย่างนี้”

อีกประเด็นที่นุ่นเสนอว่าการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างทางสังคม ยังต้องการการขับเคลื่อนบนโลกออฟไลน์ด้วย คือ “ออนไลน์บวกออฟไลน์” ไม่งั้นการถกเถียงในโลกออนไลน์ มันก็จะจบในโลกออนไลน์ ประเด็นมาไว จบเร็ว และไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

“มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มาจากโลกออนไลน์ได้เพียงอย่างเดียว ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องการออกไปพูดหรือออกไปส่งเสียงข้างนอก มันก็เลยเป็นเหตุผลที่มีกลุ่มผู้หญิงปลดแอกออกไปเคลื่อนไหว มีการล่ารายชื่อข้างนอก เพียงแต่ว่าการใช้ช่องทางออนไลน์มันเป็นแพลตฟอร์มอย่างหนึ่งที่มันจะกระจายข่าวสาร และก็กระจายประเด็นทำให้คนตระหนักมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดจากข้างนอกด้วยค่ะ”

ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยได้ แต่ขอให้ถกเถียงอยู่บนหลักการ ไอเดีย และเหตุผล

กระแสความไม่เห็นด้วยกับเฟมินิสต์มีให้เห็นกันมาตลอดไม่ใช่แค่ในไทย ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือในประเทศเกาหลีใต้ ดารานักร้องหญิงที่อ่านหนังสือเรื่อง “คิมจียอง เกิดปี 82” เขียนโดย โซนัมจู ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำให้เห็นการกดทับสิทธิสตรี และความไม่เท่าเทียมในเกาหลีใต้ จะโดนกระแสต่อต้านจากแฟนคลับฝ่ายชาย

กรณีที่ถูกพูดถึงตามหน้าสื่อไทยมากที่สุด คือ กรณีนักร้อง “ไอรีน” จากวงเกิร์ลกรุ๊ป “Red Velvet” ซึ่งเธอได้เปิดเผยในงานมีตติ้งแฟนคลับว่า เธออ่านหนังสือเล่มนี้ ภายหลังส่งผลให้เธอโดนกระแสต่อต้านจากแฟนคลับชาย หาว่า “เธอเป็นเฟมินิสต์” สุดท้ายปัญหาลุกลามบานปลาย มีการเผารูปเธอ จนถึงส่งข้อความคุกคาม

ขณะที่ในกรณีของกลุ่มเบียว ก็แสดงท่าทีหรือโพสต์ข้อความว่าทำนองไม่ชอบกลุ่มเฟมทวิตเช่นกัน เราจึงถามความรู้สึกของนุ่นว่า รู้สึกยังไงกับการที่แนวคิดเฟมินิสต์โดนต่อต้านในโลกออนไลน์ ซึ่งนุ่นมองว่านี่คือเรื่องปกติ แต่ขอให้ถกเถียงอยู่บนขนบวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 

“นุ่นว่ามันเป็นเรื่องปกติของสังคม โลกมนุษย์ มันไม่ใช่แค่ที่ไทยที่เป็น ที่ตะวันตกมันก็เป็น ที่ตะวันตกร้ายแรงกว่าคือมีกลุ่มแอนตีเฟมินิสต์ (Anti-Feminism) แบบว่ารวมกลุ่มกันมาเพื่อดิสเครดิตเฟมินิสต์ ยั่วยุเพื่อเกิดความรุนแรง ต้องเข้าใจว่าปรากฏการณ์ของสังคมโลก มันมีคนที่สนับสนุนและคนที่ต่อต้านอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องปกติที่คนไม่เข้าใจและก็เข้าใจผิด ๆ เพียงแต่ว่าเราจะทำงานเพื่อสื่อสารกลุ่มนี้ยังไงบ้าง อย่างการพูดรณรงค์สิทธิการทำแท้ง ต้องอธิบายไปว่าการทำแท้งมันไม่ได้ทำให้ใครเสียประโยชน์จากเรื่องนี้ มีแต่จะทำให้เราได้รับประโยชน์ คือไอ้เรื่องเห็นด้วยไม่เห็นด้วยมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าถ้ามันอยู่ในวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตั้งคำถาม มันก็จะทำให้เกิดการเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าเกิดคนที่ไม่เห็นด้วยพยายามตรวจสอบตัวเอง คิดทบทวนว่าตัวเองไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แล้วก็มาคุยกัน พยายามฟังว่าเฟมินิสต์เขามีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง หรือว่าพยายามสื่อสารไปถึงคุณยังไงบ้าง คุณไม่เห็นด้วยอะไร จริง ๆ แล้วคุณไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเฟมินิสต์ หรือคุณคิดไปเอง มันก็สามารถที่จะแบบอยู่ร่วมกันได้”

นุ่นมองว่าการถกเถียงพูดคุยมันยากที่จะไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกลุ่มเฟมทวิต หรือเบียว แต่ขออย่าเอาอารมณ์หรือความโกรธนำ จนละเลยเหตุและผล        

“คือมันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราพูดคุยกันมันจะมีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ว่าอย่าให้อารมณ์นำเหตุผลมากเกินไป จนละเลยไอเดียที่คุณกำลังกำลังจะแลกเปลี่ยน คือถ้าเกิดว่าไอเดียคุณชัดเจน แนวคิดคุณชัดเจน เชื่อแบบนี้ มีอารมณ์โกรธเกรี้ยว คือเราว่ามันโอเคนะที่จะแลกเปลี่ยนกัน แต่ถ้าเกิดถึงขั้นที่ความโกรธ อารมณ์มากกว่าเหตุผล จนกลบเหตุผลที่พยายามจะสื่อสารไปโดยที่มันไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอะไรเลย คือมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบอกว่า เถียงแบบดี ๆ นะ ใช้เหตุผลแบบใจเย็น ๆ นะ เป็นไปไม่ได้หรอก

เราว่าเห็นบางทีเราไม่ชอบใจใคร เราโมโห อันนี้เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าคุณอย่าไปละเลยไอเดียตรงนั้น แนวคิดที่คุณเชื่อจริง ๆ เราจะได้แลกเปลี่ยนกันอย่างมีวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แฟร์ ๆ ซึ่งกันและกัน เราว่ามันก็โอเค สำหรับเรา” นุ่น กล่าวเพิ่ม

ถ้ามองปรากฏการณ์เรื่องเฟมทวิตในแง่ดี เพราะการที่เราได้ถกเถียงกันในทวิตเตอร์ มันก็ภาพสะท้อนการเมืองแบบประชาธิปไตย?

ใช่ ๆ เป็นเรื่องธรรมดามากที่มีคนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย อย่างที่บอกไปว่าคุณสามารถพูดอะไรก็ได้ ที่ไม่ก่อให้เกิดแบบ ความรุนแรง

สุดท้าย ปรากฏการณ์การถกเถียงกันของเบียวกับเฟมทวิตไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นยังไง สังคมก็จะได้บทเรียนจากเรื่องดังกล่าวไม่ว่าทางใดหรือทางหนึ่ง อย่างที่นุ่นบอกว่า “ถ้าไม่มีเฟมทวิตตีกับเบียว” บางทีเราอาจจะไม่รู้เรื่องหรือเข้าใจเรื่องเฟมินิสต์เลยก็ได้ ไม่เข้าใจว่าสังคมมีปัญหาอยู่ แต่พอมีและเกิดการถกเถียงความตระหนักในประเด็นดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีส่วนในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมต่อไป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า