fbpx

คุยกับกอล์ฟ ธัญญ์วาริน กับหลากหลายเรื่องราวในรัฐสภา และอนาคตที่เราสร้างได้

ภาพยนตร์สะท้อนเรื่องราวของ LGBTQ+ ในไทย ชื่อ “Insect in the Backyard” (2010) หรือแมลงรักในสวนหลังบ้าน คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จัก กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์เท่านั้น แต่เธอยังเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพการแสดงออกทางศิลปะ เพราะภายหลังหนังเรื่องนี้ถูกแบนห้ามฉายในไทยอยู่นาน โดยเธอต้องใช้เวลาสู้ในศาลปกครองถึง 7 ปี จนในที่สุดศาลก็มีคำสั่งยกฟ้อง และอนุญาตให้ฉายหนังเรื่องนี้ในไทยได้ และปีนี้ก็ครบรอบ 10 ปีของหนังเรื่องนี้พอดี  

นอกจากบทบาทดังกล่าว กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ยังเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและ ส.ส. LGBTQ+ คนแรกของไทย ที่เข้าไปขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนของ LGBTQ+ ผ่านสภา และมีส่วนสำคัญกับการยื่น พ.ร.บ. แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 จากเดิมอนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะชายและหญิง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ “บุคคลทั้งสอง” นั้น สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากทำงานในฐานะ ส.ส. มาประมาณ 1 ปีครึ่ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ส.ส.ธัญญ์วาริน ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามีความผิดปมถือหุ้นสื่อ และต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส. ในที่สุด 

ด้วยความแข็งแกร่งและเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยแผ้วถางทางให้การรณรงค์สิทธิของ LGBTQ+ ในไทย The Modernist จึงอยากชวน กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ มาคุยในหลากหลายประเด็นตั้งแต่ การลงจากตำแหน่ง ส.ส. เรื่องราวการถูกกดขี่จากสังคมชายเป็นใหญ่ในสภา แนวคิดทางการเมือง ตลอดจนเรื่องราวในอนาคตต่อจากนี้ของเธอ นอกจากนี้ นี่ยังเป็นการให้สัมภาษณ์ของกอล์ฟ ธัญญ์วาริน ครั้งแรกนับตั้งแต่เธอลงจากตำแหน่ง ส.ส. อีกด้วย 

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้กอล์ฟ ธัญญ์วาริน เลือกหันเหเส้นทางจากผู้กำกับภาพยนตร์ก้าวเข้ามาเป็น ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่  

แน่นอนว่าตั้งแต่เด็ก เราไม่เคยคิดไม่เคยฝันหรอกค่ะ ที่จะเป็น ส.ส. เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ แต่ว่าด้วยความเป็นกะเทยเด็ก กะเทยหัวโปกของเราตั้งแต่เด็กค่ะ เราก็มีคำถามอยู่กับตัวเอง อยู่ตลอดเวลาที่ถามกับสังคมว่า ทำไมการที่เราจะเป็นตัวของเราเอง ทำไมมันยากจังเลย ทำไมการที่เราแบบว่า ตอนเด็ก ๆ เราได้รับเลือกให้ถือพาน แล้วคุณไม่ยอมรับให้เราถือ ทั้ง ๆ ที่เราได้รับการเลือกตั้งจากเพื่อน ๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็เป็นคำถามที่คาใจเรามาโดยตลอด 

ด้วยความที่ตัวเราเอง เด็ก ๆ เราก็เป็นคนขี้อาย เราก็จะหนีโลกของความเป็นจริงในการที่เรารู้ตัวว่าเราเป็นกระเทยใช่ไหมคะ เราก็จะหนีไปอยู่กับหนังสือบ้าง เราก็จะเริ่มเขียนบทละครเวที เขียนบทเอง กำกับเอง เป็นนางเอกเอง หรือว่าโลกแบบนั้นมันได้หลีกหนีความเป็นตัวของเราเองมาก แล้วเราก็รู้สึกว่านี่แหละมันเป็นโลกที่เราแบบชอบ และเราสามารถที่จะหลีกหนีความเป็นจริง เพราะเมื่อก่อน การเป็นกระเทยมันก็ไม่ได้ง่าย มันก็ถูกบูลลี่ โดนอะไรตั้งแต่เด็ก แม้กระทั่งจากเพื่อน จากครอบครัวรอบข้าง จากสังคมโรงเรียน และก็โดนสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เด็ก มันทำให้เราไม่กล้าเป็นตัวของเราเอง แต่เมื่อเรามาเจอโลกของหนังสือ โลกของละครเวที แล้วพอโตขึ้นเรามาเจอโลกของภาพยนตร์ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นวิธีที่เราจะสื่อสารกับโลกภายนอกได้ผ่านการเล่าเรื่องผ่านหนังนะคะ มันก็เริ่มทำให้เราเริ่มยอมรับการเป็นตัวของตัวเอง 

เมื่อเรายอมรับการเป็นตัวของเราเองแล้ว แล้วในการเป็นผู้กำกับเรารู้สึกตื่นเต้นมากกับการทำหนังเรื่องแรก “Insect in the Backyard” หรือแมลงรักในสวนหลังบ้าน เพราะว่าเรามองโลกแบบไหนแล้วเราก็เล่าผ่านหนังเรื่องนี้ออกมา ด้วยความแบบตอนนั้นภาคภูมิใจเต็มที่มาก ๆ นะคะ แล้วก็ได้ไปประกวดต่างประเทศ พอจะเข้ากลับมาฉายเมืองไทยแล้ว เราโดนแบน ตรงนี้ก็เป็นจุดที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำไมเราเล่าหนังที่สะท้อนสิ่งที่เป็นจริงในสังคม ปัญหาครอบครัวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วโดนแบน มันก็โดนสองเด้งว่าทำไมในฐานะศิลปิน ในฐานะผู้กำกับหนัง เราไม่มี Freedom of Expression (เสรีภาพเพื่อการแสดงออก) เราไม่มีเสรีภาพทางการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดต่อสังคม แล้วเรื่องที่เราเล่าคือเรื่องของ LGBTQ+ มันก็เหมือนโดนแบนสองเด้ง แล้วเราก็ต่อสู้มาอย่างยาวนาน 7-8 ปีกว่าจะได้ฉาย แล้วตอนนั้น คำถามในสังคมมันก็พอกพูนในตัวเรื่อย ๆ 

จนกระทั่งมีพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา อาจารย์ปิยบุตร (ปิยบุตร แสงกนกกุล) ก็มาบอกว่า พี่กอล์ฟ เรารู้สึกว่า เราอยากให้พี่กอล์ฟมาสมัครเป็น ส.ส. ตอนนั้นตัดสินใจนานเหมือนกันนะคะ เพราะรู้สึกว่ามันคือจุดเปลี่ยนของชีวิตค่ะ แล้วมันก็จะเปลี่ยนอาชีพเราแน่ ๆ เรารู้สึกตอนนั้นนะคะ แล้วเขาก็บอกว่า มันเป็นโอกาสที่พี่กอล์ฟจะได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็น ส.ส. เป็นกะเทยแต่งหญิง ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ทางการเมืองเหล่านี้มันไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนะคะ เพราะฉะนั้น มันก็เลยทำให้เราแบบว่า เอานะ ลองดูสักครั้งหนึ่ง มันอาจจะเป็นไปได้ก็ได้ว่า สิ่งที่มันอึดอัดอยู่ในใจเรา สิ่งที่เราไม่เคยมีพื้นที่ทางการเมือง เราไม่มีเวทีที่จะพูดแล้วแสดงออก represent ถึงตัวเรา อยู่ในเวทีที่เป็น ส.ส. ซึ่งเรียกว่าเป็นตัวแทนประชาชน ส.ส. 500 คน มันไม่เคยมีกะเทยเลย ถ้ามันเป็นครั้งแรก พรรคอนาคตใหม่อยากให้มันมีตรงนั้น ครั้งแรกพี่กอล์ฟจะได้ไปยืนอยู่ตรงนั้น และก็ได้เป็นตัวแทน ได้พูดได้ไปกำหนดนโยบายที่อยู่ในสภา 

ตอนนั้นมันก็จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นจุดผลักดันว่า เราก็ต่อสู้ผ่านหนัง ต่อสู้ผ่านกระบวนการฟ้องศาลปกครอง ผ่านที่เราได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนที่ 5 เรารู้สึกว่า เราต่อสู้ทั้ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ด้วย แล้วก็สิทธิความเท่าเทียมกันของ LGBTQ+ ด้วย มันก็เลยรวมกัน อ.ปิยบุตร บอกว่า มันก็เหมาะสมที่จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. และก็ได้เป็นจริง ๆ  

สิ่งที่เรารู้สึกได้ว่าตัดสินใจไม่ผิดคือครั้งที่ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ วันนั้นขึ้นเวทีปราศัยที่เชียงใหม่ และเราก็ได้พูดในสิ่งที่เราอยากพูด เราได้พูดในสิ่งที่เราเป็นตัวของเราเอง เราได้พูดในสิ่งที่เราจะบอกพี่น้องประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วพอเราปราศัยเสร็จ ก็มีคนมาต่อแถวขอถ่ายรูป และสิ่งที่สำคัญมีพี่น้องหลายคนมากมาขอกอด แล้วก็ร้องไห้แล้วบอกว่าขอฝากความหวัง และเขาก็เล่าให้ฟังว่าตัวเขาเป็น Lesbian บ้าง เขามีเมียเป็นกะเทยบ้าง เขาก็มาทุกคน ต่างมาเปิดเผยในสิ่งที่เป็นตัวของเขาเอง และก็มากอดเราแล้วก็ บางคนก็ร้องไห้น้ำตาไหล ฝากความหวังตรงนั้นว่าช่วยทำให้พวกเราได้สิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากับทุกคนได้ไหมคะ ได้ไหมครับ 

เราฟังแล้วเรารู้สึกว่า เราไม่เคยรู้สึกอะไรแบบนี้มาก่อน เท่าที่ก่อนเขาเข้ามาแล้วฝากความหวังไว้กับเรา เรารู้สึกว่า มันยากขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า เมื่อก่อนเราต่อสู้เพื่อตัวเราเอง เรารู้สึกแบบนั้น พอถึงตรงนี้เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเราเองอีกต่อไปแล้วค่ะ    

เมื่อคุณย่างเท้าเข้าไปในสภาไทยที่ขึ้นชื่อว่ามีชายเป็นใหญ่ สภาพแวดล้อมที่นั่นเป็นอย่างไร  

ก็จริง ๆ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปรายงานตัวเราก็เห็นว่า เราก็รู้สึกว่าเป็นจุดสนใจ ก็จับจ้องแล้วก็ดูเป็นตัวประหลาดมาก ๆ เหมือนกันนะคะวันนั้น จำได้ว่าเราก็ใส่กระโปรงไปใช่ไหมคะ ใส่สูท ใส่กระโปรง ใส่รองเท้าส้นสูง แล้วก็ผมทองมัดจุก แล้วก็ไปรายงานตัว ในการที่ได้เป็น ส.ส. ไปรายงานตัวที่รัฐสภา แล้วก็เป็นข่าว เพราะว่าบังเอิญตอนนั้นเดินมาคนเดียว แล้วก็มีพี่ ๆ น้อง ๆ นักข่าวขอถ่ายรูป ก็ขอให้ Full Turn ก็ Full Turn น่ะ ก็รู้สึกเป็นเรื่องปกติ แล้วแต่งตัวแบบนี้ เราก็รู้สึกว่ามันเรียบร้อยมากแล้ว สุภาพมาก 

เรารู้สึกว่าเราได้รับคัดเลือกมาเป็น 500 คน ส.ส.ในสภา มันก็เท่ากันไหม ไม่ว่าคุณจะเป็น ส.ส.มากี่สมัย คุณจะเป็นรัฐมนตรีรึเปล่า มันไม่เกี่ยว พอการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่าเราก็เท่ากับทุกคน ศักดิ์ศรีพวกเราในการเป็นผู้แทนราษฎรมันก็เท่ากันหมด แล้วราษฎรมันก็ไม่ได้แต่งตัวเป็นเพนกวินเหมือนกันหมด ต้องแต่งตัวเหมือนกัน เดินเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมด แยกไม่ออก ใส่สูทเหมือนกันหมด มันไม่ใช่ การที่เราได้รับคัดเลือกมาตรงนี้ เราก็เป็นตัวแทนของความแตกต่าง ความหลากหลายที่มีอยู่ Diversity ที่มันมีอยู่ในคน อยู่ในมนุษย์ และเราก็เป็นตัวของเราเอง 

ปรากฏว่ามันก็เป็นข่าวดังมากกับการที่ทุกคนเห็นแบบนั้น ก็เป็น ส.ส.ก็เกิด มันก็มีทั้งดี และไม่ดี คนที่เห็นด้วย มันก็เกิดเป็น controversial ในสังคมก็เกิดการพูดคุยกันเยอะมาก ซึ่งเราก็ไม่ได้ออกมาอธิบายอะไร เรารู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะปล่อยให้เขาได้อธิบายกันเองกับคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และในสภาเองพอเราเข้าไปตรงนั้น เราก็จะเห็นว่า คนก็จะเข้ามาตรวจการบ้านเราเยอะมาก พอสมควร เรื่องการแต่งกายก็เป็นประเด็น จะมีการแต่งกาย คุณเพศกำเนิด คุณเป็นผู้ชาย จะมาแต่งเป็นผู้หญิงมันเหมาะสมหรือไม่ ก็มีคำถามเหล่านั้น         

แน่นอนเราก็ทำหนังสือถึงเลขาประธานสภาเรื่องการแต่งกายเราก็แจ้งว่า เราก็แต่งกายตามเพศสภาพของเรา ซึ่งแน่นอนมันก็ไม่ได้มีบัญญัติอะไรกำหนดไว้ว่าเมื่อคุณเป็น ส.ส. ต้องแต่งกายตามเพศกำเนิด มันก็ไม่มีไง เพราะฉะนั้น เราก็แต่งกาย แต่ก็จะมีคนคอยตรวจการบ้านเราเยอะมาก ทั้ง ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วยกันเอง ก็จะมาตรวจการบ้านตลอดว่า เธอใส่ชุดฟิตไปไหม เธอใส่ชุดเหมาะสมไหม แต่งไปแล้วชุดนี้เป็นยังไง คือแบบเยอะมาก

สิ่งที่เราโดนมาก ๆ เขาก็พยายามที่จะ treat เรา แต่ว่าในความพยายามที่ผู้ชายจะ treat ผู้หญิงจะ treat เขาก็ทำอะไรไม่ถูก มันแค่ทำให้เราเหมือนกับทุกคนทั่วไป แต่บางทีเขาก็จะเข้าเอามือมาลูบบ้าง อะไรบ้าง เหมือนกับแสดงความเป็นกันเอง แต่เราก็รู้สึกผิดปกติว่า ปกติคุณก็ไม่ได้แสดงความเป็นกันเองกับผู้หญิงไหม มันก็มาแสดงอะไรแบบนั้นนะคะ หรือบางคนก็แบบ ผู้ชายนะคะพูด เดี๋ยวฉันจะมอบรางวัลการแต่งกายให้เธอนะ การแต่งกายยั่วยุอารมณ์ทางเพศดีเด่น เรารู้สึกแบบ หน้าเราก็เสียเลย ทำไมยังมีคนแบบนี้ คิดแบบนี้อยู่ 

ส่วนเรื่องห้องน้ำ เราก็ไม่ได้มีปัญหา เราก็เข้าห้องน้ำหญิง แต่จะมีป้าแม่บ้านบ้าง ห้องน้ำชายทางนู้นค่ะ เราก็อธิบายให้ฟัง แต่เราก็เข้าใจนะ เราก็เข้าใจเขา อยู่ในนั้นเราก็ไม่แรง เรารู้สึกว่า การที่เริ่มต้นให้เขารู้สึกว่ามีเราอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ มันก็ต้องมีกลวิธีในการเข้าหา การที่เราจะแบบไปแรงใส่ทุกคน ก็อาจจะยิ่งผลักเขาออกไป แต่การที่เรายิ้ม สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ ไม่เป็นไรค่ะ เรารู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้น ไม่เคยมีแบบนี้อยู่ในสภา นี่เป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้น การที่เราเข้าไปทำงานตรงนั้นเป็นครั้งแรก มันก็สร้างความกระอักกระอ่วนให้เขาอยู่แล้ว กฎระเบียบเราอยู่ตรงนั้น เราก็ไปบอกว่า คุณจะออกกฎอันนี้ กฎอันนั้น มีเรานั่งอยู่ตรงนี้นะคะ ช่วยตระหนักด้วยว่าคุณไม่ได้มีเพศชายเพศเดียวอยู่ตรงนั้น คุณไม่ได้มีแค่เพศกำเนิดเพศหญิงเพศเดียวตรงนั้น แต่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ช่วยเห็นเราด้วย เราพยายามจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีอยู่อย่างแนบเนียน ไม่ได้มีอยู่อย่างโดดเด่นและเป็นภัย มันมีหลายวิธี แต่เราก็จะเลือกวิธีที่จะ compromise

รู้สึกอย่างไรบ้าง หลังจากที่การยื่น พ.ร.บ. แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 มีความคืบหน้า ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนบรรจุเป็นวาระการประชุมเพื่อพิจารณาแก้กฎหมายต่อไป 

พี่ถือว่าเป็นความก้าวหน้า ถามว่ามันประสบความสำเร็จไหม สำหรับพี่มันประสบความสำเร็จก้าวใหญ่มาก ๆ เพราะก่อนหน้านี้เราจะสู้กันในวงเล็ก ๆ ของคณะทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน NGO ต่าง ๆ เพื่อทำงานผลักดันเรื่องนี้ แต่พอเราได้ผลักดันเข้าสภา แล้วมันก็แมสขึ้นมา hashtag twitter อันดับหนึ่ง #สมรสเท่าเทียม ทุกม็อบพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม ทั้งผู้ชายผู้หญิงคนที่เป็นเด็กก็เข้าใจสมรสเท่าเทียม มันแมสขึ้นมามาก ๆ เราถือว่าในหน้าที่ที่เราทำงานมา 1 ปีกว่า เรารู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จมาก ๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผลักดันให้เรื่องนี้มันแมส และเรื่องนี้มันไม่เคยเข้าไปอยู่ในสภา และเราก็ทำให้มันเข้าไปอยู่ในสภาได้ เราเข้าไปยืนอยู่ตรงนั้น เราผลักดันให้เกิดคณะกรรมาธิการผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่เคยบรรจุคำเหล่านี้อยู่ในรัฐสภาไทยในประวัติศาสตร์มาก่อน เมื่อเราเข้าไปยืนตรงนั้น แน่นอนเราผลักดันให้เกิดคณะกรรมาธิการแยกไม่ได้ แต่สิ่งเราได้คือบรรจุคำว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เข้าไปในคณะกรรมาธิการกิจกรรมเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ ซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เขาเห็นว่า เรามีตัวตน เป็นครั้งแรกได้ในรัฐสภาชุดน้ี เราถือว่ามันประสบความสำเร็จ 

นอกจากเรื่องจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแล้ว คุณพยายามแก้ไขปัญหา Glass Ceiling หรือเพดานกระจก การเลือกปฏิบัติผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน ตลอดจนกีดกันการเลื่อนขึ้นตำแหน่งงานของ LGBTQ+ โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ หรือทหาร สถานการณ์เรื่องนี้เป็นอย่างไร

พอพี่เข้าไปในสภาแล้ว มันก็จะมีปัญหา เรื่องการแต่งกายของข้าราชการ เพราะว่าตัวเราเป็นข้าราชการการเมือง แล้วเราก็แจ้งว่าเราจะใส่ชุดปกติขาวที่เป็นชุดผู้หญิง รับเสด็จในหลวงวันที่ไปสาบานตนเข้าเฝ้า วันนั้นมันก็มีการเรียกร้อง พี่ก็เรียกร้องผ่านกระบวนการรัฐสภาว่าควรจะให้แต่งกายตามเพศสภาพได้ในทุกระบบราชการ ซึ่งก็มีจังหวัดแรกที่ประกาศคือ จันทบุรี แล้วตอนนี้หลังจากที่พี่เรียกร้องผ่านรัฐสภา ก็มีการประกาศแบบจันทบุรีว่าให้คนทำงาน ข้าราชการในหน่วยงานจังหวัดจันทบุรีสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน สามารถมีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน และต้องก้าวหน้าได้ และต้องสมัครงาน โดยไม่ถูกเลือกด้วยเพศสภาพ ซึ่งแน่นอนพอมีจันทบุรีจังหวัดแรก และเราก็เรียกร้องให้ทั้ง 77 จังหวัด ต้องมีสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้ก็มีจังหวัดที่ประกาศตามมา หลังจากที่พี่เรียกร้องไป น่าจะ 20-30 จังหวัดแล้ว และก็ทยอยเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้ก็มีหลักฐานชัดเจน ทางสภาก็ส่งมาให้พี่ว่ามีจังหวัดประกาศแบบนี้มาแล้วนะคะ เยอะค่ะเยอะ เรียกว่าเดี๋ยวพี่ก็จะมีก็จะจัดแถลงข่าวว่ามีจังหวัดอะไรแล้วบ้าง ที่จะกระตุ้นสังคมต่อไปว่า แล้วจังหวัดที่คุณยังไม่ประกาศคุณทำอะไรอยู่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเราก็สามารถผลักดันได้ในระบบราชการ 

แนวคิดทางการเมืองของคุณเรื่อง Genderless ทำไมสังคมไม่ควรยึดติดกับระบบ Binary Gender และสังคมจะได้อะไรบ้างจากแนวคิดเรื่องนี้ 

สิ่งสำคัญสำหรับ Genderless พี่มองว่า มนุษย์ถูกยึดติดกับอวัยวะเพศมากเกินไป เราเอาอวัยวะเพศมาตัดสินความเป็นมนุษย์ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ในความเป็นมนุษย์นั้น อวัยวะเพศมันแค่ “Just a อวัยวะเพศ” เท่านั้น เราไม่สามารถที่แบกอวัยวะเพศแปะบนหน้าผากไว้ได้ตลอดเวลา แล้วบอกว่า เมื่อฉันเกิดมามีหำ ฉันต้องมีบทบาททางเพศเป็นเพศชาย ถามว่าใครกำหนด แล้วเราเลือกได้รึเปล่า เมื่อเรามี “จิ๋ม” เราต้องเป็นแม่เป็นเมียที่ดี ต้องเป็นผู้หญิงที่ดี ใครกำหนด เรามีสิทธิ์เลือกได้ด้วยตัวเราเองรึเปล่า ว่าเราอาจจะไม่อยากใช้จิ๋มเพื่อให้กำเนิดลูก เราไม่อยากใช้จิ๋มเพื่อจะมาบอกว่าเราเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้หญิงมันถูกกำหนดด้วยอะไร 

เพราะฉะนั้น เรามองว่าในความเป็นมนุษย์แล้ว เราไม่ควรเอาอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นตัวกำหนดความเป็นมนุษย์ แน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธเพศกำเนิดได้ แต่เพศสภาพของตัวเรานั้น เราสามารถเลือกได้ด้วยตัวเราเอง และสามารถเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้ด้วย เราเชื่อในสิทธิตรงนั้น แล้วเรารู้สึกว่ามันทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น แต่คนที่ยึดติดอยู่ในโลกของ Binary ที่เป็นเพศชาย-เพศหญิง เขาอาจจะมองว่ารู้สึกมันไม่ปลอดภัย เราไม่รู้ใครเป็นชายเป็นหญิง และทำไมคุณต้องรู้สิ่งที่อยู่ในร่มผ้า เราควรจะประกาศเหรอ ทุกวันนี้เราโป๊กว่าเราแก้ผ้าอีกนะ เพราะเราต้องแต่งกายให้ทุกคนรู้ว่า เราเป็นแบบไหน เพื่อให้ทุกคนตัดสินเราจากแบบนั้น ซึ่งมันไม่แฟร์ เรามองว่า สิ่งที่ควรเป็นความลับ ก็ควรเป็นความลับ ถามว่าต่อให้คุณรู้ว่าใครเป็นชาย แล้วคุณไปคุยด้วยเพื่อจะสานต่อความสัมพันธ์เป็นความรักหรือครอบครัวในอนาคต คุณต้องคุยกันก่อนไหม คุย ก็ไม่แปลก เพราะฉะนั้น การที่คุณไม่รู้ว่าเขาใส่เสื้อผ้าแล้วเขาเป็นเพศอะไร คุณต้องคุยก่อนไหม แล้วคุณรู้กันแค่ 2 คนนะ แต่กลายเป็นว่าเมื่อคุณอยู่ในสังคมทุกวันนี้ มันโป๊กว่าการแก้ผ้า คุณประกาศเลยว่าคุณเป็นแบบไหน นึกออกไหมคะ 

สำหรับพี่ การ Genderless มันคือการลดปัญหาต่าง ๆ แน่นอนข่มขืน ปัญหาการเลือกปฏิบัติ ปัญหาการ Stereotype มนุษย์ ปัญหาการตัดสินคนจากสิ่งที่เราเห็นภายนอก เราจะหายไปเลย Genderless คือ คุณไม่มีสิทธิ์รู้เลยว่าคน ๆ นั้นเป็นเพศอะไร คุณจะรู้แค่ว่าคุณเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และคุณอยากรู้จัก คุณก็ต้องเข้าไปทำความรู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว และคุณก็จะรู้แบบ personal ไม่ต้องประกาศให้ใครรู้ด้วย ถูกไหมคะ เรามองว่าตรงนั้นต่างหากที่มันคือสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ มันคือการสร้างความไม่ถูกตัดสินจากภายนอก นั่นแหละนั่นคือความเป็นมนุษย์ที่เราอยากได้ แล้วเรารู้สึกว่ามันแฟร์กับทุกคนด้วย 

เพราะฉะนั้น การ Genderless ถ้ามัน Genderless ได้ ถ้ามองที่ศักยภาพการเป็นมนุษย์ของคน ๆ นั้นจริง ๆ การสมัครงาน ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เราจะไม่ถูกเครื่องเพศเป็นตัวกำหนดอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมสำหรับพี่ วินาทีนี้เราผลักดันคำว่า “สมรสเท่าเทียม” ได้ขนาดนี้ พี่มองว่าอีกไม่เกิน 5 ปีนี้ทุกคนจะเข้าใจคำว่า Genderless ในสิ่งที่พี่พยายามจะพูด และพยายามผลักดัน แน่นอนเราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเพศกำเนิด มันไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่เราต้องเลือกได้หลักจากนั้นสิ เมื่อเราเกิดมาแล้ว เรารู้จักการชีวิตของเราแล้ว เราต้องตัดสินได้ว่า เราจะเลือกที่จะเป็นแบบไหนด้วยตัวเราเอง และไม่จำเป็นต้องไปโพธณาบอกใคร 

รู้สึกอย่างไรกับคนที่วิจารณ์ว่า ทำไมต้องรณรงค์เรื่องสิทธิ LGBTQ+ ทำไมไม่แก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน 

สิ่งที่เราทำอยู่นี่ละปากท้อง แน่นอนว่า ส.ส. มีความถนัดและเชี่ยวชาญกันในแต่ละอย่าง บางคนก็เชี่ยวชาญเกษตร บางคนก็เชี่ยวชาญเทคโนโลยี บางคนก็เชี่ยวชาญทางด้านนั้นด้านนี้ บางคนก็มาจาก ส.ส. เขต ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นเป็นพิเศษ แต่เรา represent ในเขตตัวเอง ทุกคนมีความถนัดในแต่ละคนถูกไหมคะ และทุกคนก็ต้องเข้ามาผลักดันประเด็นที่ตัวเองต้องผลักดัน แล้วแน่นอนสิ่งที่พี่เชื่อคือถ้าการเมืองดี ถ้ากฎหมายทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่ากับทุกคน ปากท้องเขาจะดี นี่คือเรื่องปากท้อง ในเมื่อพอเราเป็นกะเทยแล้วความก้าวหน้าเราไม่มี แล้วเราสมมติต้องไปเป็นช่างแต่งหน้า เป็นอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่มีความมั่นคงในชีวิต แต่ถ้าสมมติเราสามารถไปเป็นในสิ่งที่เราอยากเป็นได้ เราอาจจะมีความฝันเป็นนักการทูต ถามว่านี่เป็นเรื่องปากท้องไหม 

สมมติว่าเราเคยมีกะเทยคนหนึ่งที่ไปเจอที่ ม.ขอนแก่น เรียนนิติศาสตร์ แล้วพี่ก็นั่งอยู่กับคณบดี แล้วพี่ถามคณบดีว่า น้องคนนี้ที่เป็นพิธีกรเป็นกะเทยแต่งหญิง เรียนนิติศาสตร์ จุดสูงสุดในอาชีพเขาจะอยู่ที่ไหน เขามีสิทธิ์เป็นประธานศาลฎีกาหรือไม่ เขามีสิทธิ์เป็นอธิบดี ศาลแพ่งใต้ ศาลแพ่งเหนือ ศาลทุกที่ เขามีสิทธิ์เป็นทนายหรือไม่ เขามีสิทธิ์นั่งเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ ในเมื่อเขาจบ การศึกษาคณะนิติศาสตร์ คณบดีตอบไม่ได้ เพราะน้องคนนั้นเป็นกะเทยแต่งหญิง ถามว่าปากท้องหรือไม่ ในเมื่อเด็กคนนี้เรียนนิติศาสตร์ ทำไมเขาไม่สามารถทำมาหากินในสิ่งที่เขาเรียนได้ละ นี่ปากท้องไหมคะ เราทำเพื่อมนุษย์คนหนึ่ง สิบคน ล้านคน ให้สามารถทำอาชีพ และได้เงินเหมือนกับทุกคน นี่ไม่ปากท้องตรงไหน 

คุณมีอะไรอยากฝากถึงคนที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมี ส.ส. หลากหลายทางเพศในสภา  ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเหล่านี้ต้องเรียกร้องสิทธิของตัวเองไหม           

แน่นอนว่าคำถามสำคัญที่พี่จะถามกลับ เข้าใจเรื่องผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็แค่ลองส่องกระจกนะ และก็ลองถามตัวเองว่า เรารู้สึกเราเป็นผู้ชายเต็มตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้ววันรุ่งขึ้นเราถูกบังคับให้ใส่กระโปรง ใส่ยกทรง ใส่วิกผมยาว แต่งหน้าทาปาก แล้วไปทำงาน คุณสามารถทำงานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ที่คุณเคยทำรึเปล่า คุณก้าวขาออกจากบ้านด้วยชุดผู้หญิง ทั้งที่คุณบอกว่าคุณเป็นผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วคนมองคุณแล้วคุณรู้สึกอย่างไร หรือแม้แต่ผู้หญิงที่คุณบอกว่า ตัวเองเป็นผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าถูกบังคับให้ไม่ใส่ยกทรง ให้ใส่กางเกงในผู้ชาย แล้วก็ให้ตัดผมทรงผู้ชายทรงเกรียน คุณรู้สึกแบบไหน ถ้าคุณต้องแต่งกายแบบนั้นเดินออกไปนอกบ้าน คุณรู้สึกแบบไหน มันก็รู้สึกแบบเดียวกัน ที่เราเป็นตัวของตัวเองแล้วเราเป็น LGBTQ+ แล้วไม่สามารถเป็นตัวของเราได้ ถูกบังคับด้วยกรอบของสังคม ด้วยสายตาของสังคมเขามองมา คุณรู้สึกแบบไหน เราก็รู้สึกแบบนั้นแหละอย่างหนึ่ง 

สอง คุณตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ไอ้สิ่งที่คุณต้องบอกว่าเป็นผู้ชาย แล้วคุณต้องปฏิบัติตามบทบาทของเพศชาย คุณเคยรู้สึกไหมว่า คุณอ่อนแอทั้งที่คุณเป็นผู้ชาย คุณถูกบอกว่าต้องแข็งแรง บางทีคุณไปกินข้าวกับผู้หญิงคุณไม่อยากออก (เงิน) คุณรู้สึกว่ามันก็ต้องหารกันไหม แล้วคุณไม่ต้องการที่จะมีความเป็น “แมน” ที่ถูกยัดเยียดด้วยคำว่าเพศชาย คุณรู้สึกบ้างไหมว่าคุณรู้สึกอยากอ่อนแอ หรือผู้หญิงเรารู้สึกว่า เราไม่ได้อยากเป็นแม่ เราไม่ได้อยากเป็นเมีย มันผิดไหมที่เราจะรู้สึกแบบนั้น แล้วเรารู้สึกไหม ใครเป็นคนบังคับให้เราอยู่ในกรอบเหล่านั้น เราเลือกเองได้รึเปล่า เพราะฉะนั้น คำถามเหล่านี้มันก็น่าจะสร้างคำตอบในใจเราได้ ในใจผู้ชายผู้หญิง น่าจะเข้าใจ LGBTQ+ ได้ไม่ยาก และก็เข้าใจตัวเองด้วยว่า การถูกกดทับ ด้วยคำว่าบทบาททางเพศ เพศชาย เพศหญิง ความเป็นพ่อความเป็นแม่ ความเป็นเมีย ความเป็นผัว การถูกกดทับในที่ทำงาน ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ การถูกสายตาลวนลามทางเพศต่าง ๆ เหล่านี้ คุณพอใจกับการถูกกระทำเหล่านั้นรึเปล่าทั้งเพศชายและเพศหญิง เพราะสิ่งเหล่านี้มันก็มาจากการที่เราให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศมากเกินไปจนมันเป็นภาระที่หนักอึ้งอยู่บนบ่าแล้วต้องรับผิดชอบในความเป็นแค่มีอวัยวะเพศอันนี้อันเดียว 

ความรู้สึกของกอล์ฟ ธัญญ์วาริน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตัดสินให้คุณพ้นสภาพการเป็น ส.ส. 

คือมันหลายความรู้สึกปนกัน แน่นอนว่าเราไม่ได้อยากเป็น ส.ส. อยู่แล้วตั้งแต่แรก และเราก็ไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง ส.ส.เลย และเราก็ไม่เคยคิดว่ามันเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีอะไร มันก็คือตำแหน่งงานตำแหน่งหนึ่ง เรารับเงินเดือนจากภาษีประชาชน เราก็ต้องทำเพื่อประชาชน มันก็เป็นเรื่องปกติ เราก็ทำงานตรงนั้น แล้วเราก็บอกแล้วว่า ไอ้การที่เราเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. เราก็ยังใช้ชีวิตปกติ เราก็ยังขึ้นรถเมล์ เรายังขึ้น Grab แท็กซี่ แท็กซี่ยังงงว่า หน้าคุ้น ๆ เหมือนเห็นเป็น ส.ส. ก็บอกใช่ค่ะ แล้วทำไมมานั่งแท็กซี่ ก็นั่งได้ค่ะ นั่งทุกวันปกติ เรายังนั่งรถทัวร์ ไม่ได้มีบอดี้การ์ด เหมือนกับบางคนก็จะมีภาพนักการเมืองแบบเก่าที่เคยเห็น แน่นอนว่าเราคนธรรมดาคนหนึ่งที่มาทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนในสภา แต่มันไม่ได้แปลว่า สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราแตกต่างจากตัวตนที่เราเคยเป็น การที่เขาตัดสิทธิ์เรา อย่างแรกเราไม่เสียใจ เพราะเราก็กลับมาทำอาชีพเรา

สิ่งที่เราเสียใจแล้วร้องไห้ที่เป็นภาพออกมาในวันนั้น เราเสียใจกับระบบยุติธรรมในประเทศเรามากกว่า ตรงนี้เรารู้สึกว่าองค์กรอิสระ คำว่าศาล เรารู้สึกว่าน่าจะมีความเป็นธรรม เพราะเรารู้สึกว่า เพราะว่าการตีความสื่ออีก แล้วตรงนี้มันเป็นอาชีพของเรา แล้วเราก็มีเอกสารยืนยันชัดเจนว่า เราได้ขอจดจัดตั้งเพื่อขอเป็นสื่อมวลชนจาก กสทช. หรือจากหอสมุดแห่งชาติ นี่ก็ชัดเจน แต่ว่าแน่นอน ในวันนั้นก็มีเราคนเดียวที่โดนให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. แล้วที่ร้องไห้เราก็รักเพื่อนเรา รักเพื่อนที่ทำงานมาด้วยกัน แล้วเราก็รู้ว่าวินาทีนั้น เราจะไม่ได้ทำงานกับเพื่อนในสภา 

แต่อันนี้ก็ยังทำงานนอกสภาอยู่ ยังลงพื้นที่อยู่เหมือนเดิม ก็ยังเพิ่งไปลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ปัญหาการผูกขาดของล้ง ของส้มโอ ของระบบบริหารจัดการน้ำ หรือบริษัทต่างชาติจะมาสร้างโรงงานขยะสารเคมีอะไรอย่างนี้ เพราะว่าเกิดมาเราก็ไม่เคยรู้เรื่องแบบนี้ แต่เราก็ปวารณาตัวไว้ตั้งแต่จะถูกพ้นสภาพว่า ยังไงเราก็เป็น ส.ส. จะเป็นผู้แทนราษฎรตลอดชีวิต ไม่ว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาหรือไม่ได้ทำ แน่นอนว่าเราก็ต้องทำหน้าที่เอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาสะท้อนให้ผ่านระบบสภาได้อยู่ดีในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง 

ก่อนหน้านี้เราก็ทำงานเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของ LGBTQ+ อยู่แล้ว แล้วก็เรื่อง Freedom of Expression แก้กฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์อยู่แล้ว แล้วเราก็รณรงค์เรื่องแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือไม่ได้เป็น ตอนนี้เราก็ทำงานต่อ ตอนทำงานในสภาเราก็เอาเรื่องเข้าไปในสภา พอไม่ได้ทำงานในสภา เราก็มีวิธีส่งเข้าไปในสภาผ่านพรรคเราอยู่ แล้วเรายังได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นปัญหาประชาชนในแง่มุมใหม่ ๆ มันก็สามารถที่จะ เราก็สามารถจะผลักดันเข้าไปในสภาได้ 

เพราะฉะนั้น เสียใจไหม เสียใจ ผิดหวังไหม ผิดหวัง หมดหวังไหม ไม่หมดหวัง เพราะว่าแน่นอนตั้งแต่วินาทีแรกตัดสินใจก้าวมาทำงานการเมือง เรารู้อยู่แล้วว่า มีอุปสรรค มีปัญหา ที่เรามาก็เพราะเราจะเข้ามาแก้ปัญหา เรามาพร้อมกับความหวัง ไม่ใช่ความหวังของเราคนเดียว แต่เป็นความหวังที่ประชาชนคนไทยทั้งที่เป็น LGBTQ+ และไม่ได้เป็น LGBTQ+ ฝากความหวังไว้กับเราเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้น เราไม่หมดหวังค่ะ ก็ทำงานต่อไป

เส้นทางหลังจากพ้นตำแหน่ง ส.ส. ธัญญ์วารินจะเป็นอย่างไรต่อไป มีโครงการที่กำลังทำ หรือในอนาคตว่าจะทำไหม

แน่นอนว่าหนังที่พี่รับจ้างผลิต หนังที่พี่รับจ้างทำเอง ก็ยังมีเนื้อหา มีคอนเทนต์ เล่าบริบทสะท้อนภาพของสังคม ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชนกลุ่มน้อย ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติในสังคม พี่ยังเล่าเรื่องนี้อยู่ และพี่ก็เล่าเรื่องอยู่มาตลอดมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ซึ่งพี่ก็มองว่า แน่นอนงานศิลปะก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสื่อสารกับสังคมทั้งสังคมไทยและสังคมทั่วโลก พี่มองว่าหนังคือภาษาสากล แล้วมันก็สามารถแทนตัวเราที่จะไปยืนอยู่ได้ เพราะฉะนั้น มันก็เป็นวิธีที่พี่ถนัด และพี่ก็ยังทำต่อไปแน่ ๆ 

ตอนนี้ก็มีโครงการอยู่หลายโครงการมาก ๆ ที่เราอยากจะนำเสนอชีวิต อย่างที่บอกว่า เรามีโครงการหนังเรื่อง “สวรรค์ในอก” หรือ Down to Heaven ซึ่งเราจะเล่าเรื่องชีวิตและก็ตั้งคำถาม ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเองด้วย และถูกเลือกปฏิบัติด้วยสังคมด้วย และก็ตั้งคำถามกับชนกลุ่มน้อย อย่างเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ในการที่บางครั้ง เขาไม่มีโอกาสในชีวิต เขาจะทำอย่างไร ตั้งคำถามกับความเชื่อสิ่งเหล่านี้ในสังคม เราก็ยังมีโปรเจกต์นี้อยู่ 

เราก็มีโปรเจกต์ที่เราอยากจะนำเสนอชีวิตของ “เทยไทบ้าน” ของกะเทยที่อยู่บ้านนอก หรือว่าเกย์ หรือความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในท้องไร่ท้องนา ซึ่งไม่ถูกนำมาเสนอให้คนได้ดู ส่วนมากเราจะนำเสนอ แต่ชีวิตแบบนี้ที่อยู่แต่ในเมือง เราก็ยังอยากจะให้เห็นชีวิตที่ คนที่อยู่ท้องไร่ท้องนาที่เขาเป็น LGBTQ+ เขาอยู่กันแบบไหน และเขายังต้องการอะไร หรือสิทธิที่เขามี ชีวิตที่เขาเป็นมันเป็นอย่างไร อยากจะทำงานตรงนั้นด้วย 

แต่แน่นอนเรื่องผลักดันนโยบาย กฎหมายต่าง ๆ เราก็ยังทำงาน สอดประสานไปกับองค์กร NGO ก็ตาม หรือพรรคการเมืองพรรคเรา เราก็ยังมี ส.ส. ที่เป็น LGBTQ+ อยู่ ซึ่งเราก็ยังเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภายนอก กับประชาชน กับตัวพรรคการเมืองที่เราทำงานอยู่ และผลักดันสิ่งเหล่านี้เข้าไปในสภาได้เหมือนเดิม และก็เรื่อง พ.ร.บ. ภาพยนตร์เองก็ดี เรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์เองก็ดี ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ผลักดันสิ่งเหล่านี้อยู่ในสภาอยู่ตลอดอยู่แล้ว เราก็ยังทำสิ่งเหล่านี้อยู่ ประสานไปกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาพันธ์ภาพยนตร์ แล้วก็กระทรวงวัฒนธรรมเราก็ยังมีมิตรภาพในการทำงานที่ดี และก็มีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยั่งยืน เราก็มองว่าสินค้าทางวัฒนธรรม ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญ เราก็ยังผลักดันต่อไปค่ะ

ในฐานะที่คุณเป็นนักสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ+ มาโดยตลอด อยากฝากอะไรให้กับชาว LGBTQ+ หรือนักรณรงค์สิทธิเพื่อ LGBTQ+ ที่อยากเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นในสภา 

จริง ๆ ไม่อยากจะฝากอะไรนะ อยากจะบอกว่าขอบคุณ และตอนนี้รู้สึกมีความหวัง เราก็ดีใจมาก ๆ ที่การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้งในประวัติศาสตร์ เราได้เห็นธงสีรุ้งในทุก ๆ ม็อบ เราได้เห็นคนปราศัย เป็น LGBTQ+ ที่มีความรู้ความสามารถ ขึ้นมาพูดและเรียกร้องสิทธิ เราไม่ได้มาพูดเรื่องกะโหลกกะลา ไม่ได้เป็นตัวตลกของใครต่อใคร แต่ประเด็นที่เราพูด ประเด็นที่เราเสนอ มีม็อบทุกม็อบ เรารู้สึกเลยว่า การเมืองไทย จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประตูบานนี้ได้เปิดแล้ว และจะไม่มีวันได้ปิดอีกต่อไปแน่นอน 

เรามั่นใจนะคะว่า สมัยต่อไปนั้นกอล์ฟอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส.แล้วนะคะ แต่กอล์ฟก็มั่นใจว่า สิ่งที่เราได้เปิดประตูบานนี้เอาไว้จะทำให้ พี่ ๆ น้อง ๆ LGBTQ+ ทุกคนที่อยู่ในม็อบเองก็ดี อยู่ในทางบ้านเองก็ดี อยู่ในทุก ๆ พื้นที่ในประเทศไทย จะกล้าที่จะก้าวเข้ามาสมัครเป็น ส.ส. และก็จะกล้าที่จะก้าวข้ามความเชื่อว่าจะไม่มีนักการเมืองที่เป็นกะเทย ไม่มีนักการเมืองที่เป็น LGBTQ+ เราไม่ต้องรอให้ใครมาเรียกร้องให้เราค่ะ ตัวเราต้องกล้าที่จะก้าวเข้ามาเรียกร้อง เพื่อพวกเรา เราก็บอกไปแล้วว่า พวกเราที่มีอยู่ในประเทศนี้ ไม่ได้มีแค่คนสองคน เรามีมากมายที่เปิดเผยอีก 7 ล้าน ไม่เปิดเผยอีกเป็น 10 ล้านรึเปล่า เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เปิดเผย เขาไม่กล้า come out เพราะว่าอะไร เพราะการเมืองมันไม่ดี การเมืองมันไม่สามารถที่จะทำให้เราก้าวข้ามคำที่ถูก Stereotype ในสังคมว่าเมื่อเป็นกะเทย เราจะเป็นได้แค่ตัวตลก 

ทั้งที่เราเป็น ส.ส.ไม่ถึง 2 ปี แต่กอล์ฟเชื่อว่าตั้งแต่วินาทีแรกที่กอล์ฟเป็น ไม่มีวินาทีไหนเลย ที่กอล์ฟไปทำการเมืองแบบเล่น ๆ ทุกวินาทีที่กอล์ฟลงพื้นที่ ทุกวินาทีที่กอล์ฟปราศัยอยู่ในสภา เราทำงานอย่างเต็มที่นะคะ เพื่อให้ทุกคนเห็นว่า เราจะก้าวข้ามความเป็น LGBTQ+ แล้วจะเห็นการเป็นศักยภาพในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และศักยภาพในการที่เราจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า เราต้องทำงานอย่างเต็มที่ตลอดเวลา 

เราก็เชื่อว่าต่อไปในอนาคตนะคะ ก็ฝากความหวังไว้กับพี่ ๆ น้อง ๆ LGBTQ+ ทุกคนว่าไม่ต้องกลัวการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่กล้าที่จะก้าวเข้ามาสมัครเป็น ส.ส. ไม่กล้าที่จะพูดเรื่องการเมือง แปลว่าตัวเราเองนี่แหละเป็นคนที่ไม่เคารพในตัวเอง ไม่กล้าที่จะบอกว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และสมควรได้สิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากับทุกคน 

สุดท้าย หากจะมีอะไรสำทับจากที่อดีต ส.ส. ธัญญ์วารินได้ทิ้งท้ายไว้ คงเป็นประตูที่เธอได้แง้มเปิดไว้นั้น จะไม่ได้เป็นแค่แรงบันดาลใจให้ LGBTQ+ เท่านั้น เชื่อว่าผู้นิยามตนเองเป็นชายหรือหญิงแท้เองก็สามารถได้แรงบันดาลใจจากอดีต ส.ส. ธัญญ์วารินท่านนี้ได้เช่นกัน ประตูที่เธอได้เปิดไว้ทำให้ได้สำรวจมุมมองปัญหาสังคมอย่างครอบคลุมหลากหลายมิติ ตั้งคำถามกับสังคมที่ถูกมองว่าปกติ ซึ่งภายหลังเชื่อว่าการตั้งคำถามนี้จะเป็นประโยชน์และนำมาสู่การสร้างสังคมที่เท่าเทียมที่เราต่างถวิลหากันต่อไป 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า